ข่าวสาร ศทอ. ศทอ.

OATS

การก่อสร้างพื้นที่ทดสอบแบบเปิดโล่ง (Open Area Test Site: OATS)

 เพื่อสอบด้าน EMC และสอบเทียบสายอากาศย่านความถี่กว้าง

สนับสนุนโดย

     สำนักงานคณะกรรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)

          โครงการจัดสร้างพื้นที่แบบเปิดโล่งเพื่อทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า(Electromagnetic Compatibility: EMC) และสอบเทียบสายอากาศ (Antenna Calibration) ของ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงการที่จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างพื้นที่ทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าและสอบเทียบสายอากาศ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทดสอบเปรียบเทียบ(comparison site) ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่มีห้องทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบกึ่งไร้การสะท้อน หรือมีความต้องการจะทำการสอบเทียบสายอากาศความถี่ต่ำในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ของการสร้าง OATS ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับสากล อันได้แก่ การเพิ่มโอกาสการแข่งขันด้านการออกแบบ การวิจัยพัฒนา การผลิต อุปกรณ์เทคโนโลยีโทรคมนาคม และอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยลดการขาดดุลการค้า จากการที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสายอากาศความถี่ต่างๆ ไปทดสอบและสอบเทียบในต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายการทดสอบ/สอบเทียบที่สูงและใช้เวลานาน และเป็นการผลักดันงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการทดสอบ การออกแบบ  การวิจัยพัฒนา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคมและออกแบบสายอากาศในประเทศไทย 

วัตถุประสงค์

  • เพื่อออกแบบสร้างพื้นที่ทดสอบและสอบเทียบสายอากาศ แบบ OATS ที่ระยะทดสอบอย่างน้อย 10 เมตร
  • เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและสายอากาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
  • ศึกษาในส่วนของขั้นตอนวิธีการออกแบบและจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องในการจัดสร้าง และเพื่อทดสอบคุณสมบัติด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสายอากาศ เพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐานสากล  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขยายผลงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การผลิตเชิงพานิชย์ต่อไป และเพื่อทำการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล เช่น ITU ETSI และ ISOฯ
  • เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ ในการวัดด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการทดสอบให้มีความถูกต้องแม่นยำด้วยต้นทุนที่ต่ำลง สนับสนุนนักวิจัยในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันและยกระดับความสามารถให้เทียบเท่าสากล
  • เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบด้านโทรคมนาคมเพื่อการยอมรับร่วม(mutual recognition agreement: MRA) ในระดับอาเซียน(ASEAN) และระดับสากล เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
  • เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบกลางหรือพิสูจน์ทราบ  เพื่อรองรับนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมในประเทศ
  • เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการวิจัย ทดสอบเพื่อทำการทวนสอบประสิทธิภาพ(performance verification) ห้องปฏิบัติการทดสอบต่างๆ ในประเทศ ที่ขอรับรองขึ้นทะเบียนและแต่งตั้งเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบด้าน EMC ยานยนต์ และโทรคมนาคมในประเทศ
  • เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาการทางด้านมาตรฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศและด้าน EMC รองรับกระบวนการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์หลังการอนุญาติ ให้จำหน่ายในตลาด (post market severance) ตามโครงสร้างด้านการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์สากล

ส่วนประกอบของ OATS

  1. พื้นที่ทดสอบแบบเปิดโล่ง (Open Area Test Site :OATS) พื้นที่ทดสอบแบบเปิดโล่ง เป็นพื้นที่มาตรฐานอ้างอิง (reference site) สำหรับการทดสอบด้าน EMC และด้านโทรคมนาคม ใช้เปรียบเทียบหรือยืนยันผลการทดสอบในห้องปิดกั้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในกรณีที่ผลการวัดน่าสงสัย พื้นที่ดังกล่าวจะต้องอยู่ในบริเวณที่มีการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (ambient noise) น้อย หากมีการรบกวนในบริเวณดังกล่าวมากจะไม่สามารถทำการทดสอบ EUTได้ ส่วนประกอบสำคัญของ OATS คือ
  • พื้นปูด้วยแผ่นโลหะเรียบหรือแผ่นตะแกรงลวด ซึ่งมีขนาดน้อยกว่า 1/10 ของความยาวคลื่น สายอากาศในการรับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งแพร่ออกจาก EUT ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนเสาอากาศเคลื่อนที่ได้(Antenna Mast) ความสูง 10 เมตร จำนวน 2 ต้น
  • แท่นหมุน เป็นจานโลหะรัศมี  3 เมตร รับน้ำหนักได้ 3 ตัน ใช้ในการวางอุปกรณ์ทดสอบ  สามารถปรับมุมการหมุนได้ตั้งแต่ 0 องศาถึง 360 องศา เพื่อใช้ในการหาตำแหน่งที่ EUT แพร่สัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าออกมามากที่สุด
  • เสากระโดงสำหรับติดตั้งสายอากาศ(Antenna mast) แบบเสาคู่สำหรับงาน outdoor สามารถปรับความสูงของสายอากาศได้สูง 10 เมตร รับน้ำหนักได่ 20 kg  สามารถเคลื่อนที่วางบน ground plan และวางบนแท่นหมุนสำหรับวัด antenna radiation pattern ได้ ตามมาตรฐาน ANSI C63.5
  • โดม(drome) สำหรับครอบแท่นหมุนเพื่อป้องกันแสงแดด ฝน ฝุ่น ลม ขณะทำการทดสอบ

เขียนโดย ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์